ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียน
        โรงเรียนบ้านแม่อุสุวิทยา เดิมตั้งอยู่ในหมู่บ้านแม่อุสุ หมู่ที่ 4 ตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เปิดทำการเรียนการสอนเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2505 ตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในขณะนั้นโรงเรียนบ้านแม่อุสุวิทยามีอาคารเรียนแบบ ป.1ช จำนวน 2 ห้องเรียน และให้บริการการศึกษาแก่นักเรียนในพื้นที่บริการจำนวน 3 หมู่บ้าน นักเรียนร้อยละ 100 เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเกรี่ยง ครูท่านแรกที่ทำการสอน คือ นายปั่น ลิลาว (สุขประชาพันธ์)
          ในปีการศึกษา 2554  โรงเรียนบ้านแม่อุสุวิทยา ได้เปิดห้องเรียนสาขา จำนวน 1 ห้องเรียน ที่หมู่บ้านดูบลอคี หมู่ที่ 7 ตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัยจนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนจำนวน 78 คน โดยมี     นางวารุณี วรนาม เป็นผู้สอน
          ปัจจุบันโรงเรียนบ้านแม่อุสุวิทยา ตั้งอยู่เลขที่ 54 หมู่ 4 ถนนแม่สอด - แม่สะเรียง ตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัย จนถึง ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนจำนวน 1,503 คน มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 64 คน โดยมีนางณัฏฐ์  พชรกันย์สกุล เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน
 
 สภาพชุมชน เศรษฐกิจและสังคมของสถานศึกษา
          โรงเรียนบ้านแม่อุสุวิทยามีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน และพื้นที่การให้บริการห่างไกลกระจัดกระจายเป็นหย่อมบ้านต่าง ๆ มากมาย และห้องเรียนสาขาเป็นพื้นที่ภูเขาสูง
          ตำบลแม่อุสุตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอท่าสองยาง ตามเส้นทางสายแม่สอด - แม่สะเรียง ห่างจากที่ว่าการอำเภอท่าสองยาง 11 กิโลเมตร มีจำนวนหมู่บ้าน 10 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ประกอบอาชีพหลักทำนา ทำสวน เช่น ทำไร่ข้าวตามไหล่เขา ทำนา หาของป่า เช่น หน่อไม้ สมุนไพร ผักตามธรรมชาติ และมีอาชีพเสริมเลี้ยงโค กระบือ ประชากรมีฐานะยากจน ไปประกอบอาชีพรับจ้างในถิ่นอื่น เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวนักเรียนส่วนใหญ่ มีความขาดแคลนในหลาย ๆ ด้าน เป็นปัญหาที่โรงเรียนต้องคอยดูแลและพยายามให้ความช่วยเหลือทุกวิถีทาง  รายได้ของประชากรประมาณ 1,000 – 3,000 บาท ต่อคน ต่อปี แสดงให้เห็นว่าประชากรยังมีความยากจน ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีบุตรหลายคนจึงมีความจำเป็นต้องให้ลูกในวัยเรียนไปทำงานหาเงินจุนเจือครอบครัว ทำให้นักเรียนต้องขาดเรียนประจำ ซึ่งบางรายต้องให้ลูกออกเรียนกลางครัน โรงเรียนประสานความร่วมมือกับชุมชน ขอความช่วยเหลือสนับสนุนจากต้นสังกัดหน่วยงานเอกชน และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือนักเรียนให้เป็นขวัญและกำลังใจในการศึกษาเล่าเรียน ไม่ต้องออกกลางครัน และไม่สร้างปัญหาให้กับสังคม นอกจากนี้การระดมทรัพยากรจากชุมชน ในการพัฒนาการศึกษาเป็นไปค่อนข้างจำกัด
          ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง 95% และตำบลแม่อุสุ เป็นชุมชนที่มีประชากรอพยพถิ่นฐานมาจากประเทศพม่า และหลาย ๆ พื้นที่ ต่างก็นำเอาวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นของตนมายืดมั่นถือปฏิบัติเป็นประเพณีนิยมที่บรรพบุรุษเคยปฏิบัติมา เช่น ชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงจะมีวัฒนธรรมการแต่งกาย การกิน การอยู่อาศัย ประเพณีต่าง ๆ เหมือนดังคนไทยพื้นราบทั่ว ๆ ไป แต่จะมีวัตถุประสงค์คล้าย ๆ กันคือ เพื่อระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษ บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อช่วยขจัดทุกข์ภัย สิ่งชั่วร้าย ให้พ้นจากครอบครัวของตน และช่วยปกป้องคุ้มครองให้ครอบครัวอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข โรงเรียนมักเกิดปัญหาเมื่อผู้เรียนขาดเรียนเป็นประจำ เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมความเชื่อของชาวบ้าน